ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา
ความเป็นมาของสถานศึกษา
ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปีงบประมาณ๒๕๔๓ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอยุทธศาสตร์จัดการศึกษาเพื่อคนพิการต่อคณะรัฐมนตรี  และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในหลักการมาตรการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๒ และให้ดำเนินการตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ได้อนุมัติให้สำนักบริหาร
งานการศึกษาพิเศษ เตรียมจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษของคนพิการเพิ่มอีก ๘ แห่ง ในเขตการศึกษา ได้แก่
เขตการศึกษา ๑ จังหวัดนครปฐม เขตการศึกษา ๒ จังหวัดยะลา เขตการศึกษา ๔ จังหวัดตรัง เขตการศึกษา ๕ จังหวัดสุพรรณบุรี เขตการศึกษา ๖ จังหวัดลพบุรี   เขตการศึกษา ๗ จังหวัดพิษณุโลก เขตการศึกษา ๑๑ จังหวัดนครราชสีมา เขตการศึกษา ๑๒ จังหวัดชลบุรี และศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดทุกจังหวัด
ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๒ เป็นต้นไป
           ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๕
โดยตั้งสำนักงานชั่วคราวอยู่ในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการโรงเรียน  โสตศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราชปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษได้แต่งตั้ง นายสุพล บุญธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งหนองแห้งประชาสรรค์มารักษาการในตำแหน่งหัวหน้าศูนย์การศึกษาพิเศษ
ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช
           วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ได้ย้ายที่ทำการมาที่เลขที่ ๑๓๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลนาสาร อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมี ดร.สุชาติ  บรรจงการ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ


สภาพทั่วไปของสถานศึกษา
           ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลนาสาร อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ ๘๐๐๐๐ สังกัดบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร ๐๗๕-๓๗๘๙๑๕
e-mail : [email protected] website : www.nakhonsispecial.ac.th

 

การให้บริการ
ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการจัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทั้ง 9 ประเภท ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องกำหนดประเภท และหลักเกณฑ์
ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๒ และประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนการจัดการศึกษา
เฉพาะบุคคล ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๒ ได้แก่
                          ๑. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น
                          ๒. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
                          ๓. บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติป้ญญา
                          ๔. บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ
                          ๕. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้
                          ๖. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
                          ๗. บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม หรืออารมณ์
                          ๘. บุคคลออทิสติก
                          ๙. บุคคลพิการซ้อน
           ตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการ ถึงอายุ 18 ปี โดยมีรูปแบบการให้บริการ ดังนี้
                          1. การให้บริการภายในศูนย์ฯ จังหวัด
                          2. หน่วยบริการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีหน่วยบริการ จำนวน 22 หน่วยบริการ ให้บริการครบทุกอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช
                          3. ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลมหาราช
จังหวัดนครศรีธรรมราช
                          4. ห้องเรียนค่ขนานออทิสติก มีทั้งหมด 4 โรงเรียน ได้แก่
                              4.1 โรงเรียนวัดพระเพรง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1
                              4.2 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 6ฯ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2
                              4.3 โรงเรียนบ้านห้วยหาร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3
                              4.4 โรงเรียนบ้านบางฉาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4


เขตพื้นที่การให้บริการ
                          เขตพื้นที่บริการจำนวน ๒๓ อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอพระพรหม อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอทุ่งสง อำเภอนาบอน อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ อำเภอพรหมคีรี อำเภอปากพนัง อำเภอชะอวด อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอลานสกา อำเภอหัวไทร
อำเภอช้างกลาง และอำเภอบางขัน


อาณาเขต
ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ ๑๕ ไร่ มีอาณาเขตติดต่อ
                   ทิศเหนือ                  ติดกับ     ถนนพระเพรง – นาสีพุฒ
                   ทิศใต้                     ติดกับ     ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน
                   ทิศตะวันออก             ติดกับ     ที่สาธารณประโยชน์
                   ทิศตะวันตก              ติดกับ     คลองชลประทาน


บทบาทหน้าที่
บทบาทที่ 1 จัดการศึกษาในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention: EI) และเตรียมความพร้อมของคนพิการ เพื่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนเรียนร่วม
โรงเรียนเฉพาะความพิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

           ดำเนินการโดยให้มีการจัดทำแผนและให้บริการตามแผนการให้บริการช่วยเหลือเฉพาะครอบครัว (Individualized Family Service Plan : IFSP) รวมทั้งจัดทำแผนและให้บริการตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP) แผนการสอนรายบุคคล (Individual Implementation Plan : IIP) จัดสัมมนาผู้เกี่ยวข้องเรื่องการจัดทำแผน ให้คำปรึกษาแนะนำและบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านต่างๆ ให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องแต่ละประเภท ด้วยการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน/ข้อมูลทั่วไป (จากการสัมภาษณ์ สังเกตและสืบค้นจากแฟ้มประวัติของคนพิการ)
การคัดกรองประเภทความพิการทางการศึกษา (ตามแบบคัดกรองของกระทรวงศึกษาธิการ) การประเมินความสามารถพื้นฐาน โดยประเมินศักยภาพของคนพิการ จัดหาสื่ออุปกรณ์ที่เหมาะสม และสอดคล้อง
กับแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล การประเมินความก้าวหน้า สรุปพัฒนาการของคนพิการแต่ละคน
การนิเทศ ติดตาม ประเมินผลและการส่งต่อคนพิการไปรับบริการที่เหมาะสม เช่น บริการทางการแพทย์ โรงเรียนเรียนร่วม โรงเรียนเฉพาะความพิการ เป็นต้น
           บทบาทที่ 2 จัดระบบการเปลี่ยนผ่านสำหรับคนพิการ (Transition)
           ดำเนินการโดย คำนึงถึงความต้องการของคนพิการในลักษณะความต้องการ ด้านสภาพแวดล้อม ช่วงระยะเวลาในสภาพแวดล้อมหนึ่งไปสู่สภาพแวดล้อมหนึ่ง เช่น จากบ้านไปสู่โรงเรียน/โรงพยาบาล/สถานที่ อื่นๆ ตามความต้องการจำเป็น โดยจะต้องให้คนพิการ/ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับคณะบุคคล สหวิชาชีพ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านของคนพิการ มีข้อจำกัดน้อยที่สุด เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพให้มากที่สุด
 
           บทบาทที่ 3 ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานการจัดการเรียนร่วม
           ดำเนินการโดย ส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนที่จัดการเรียนร่วมจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรียนร่วมของสถานศึกษา จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการศึกษา จัดตั้งผู้รับผิดชอบดำเนินงานให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการศึกษาแต่ละคนได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา จัดการเรียนการสอนให้บุคคลที่มี
ความบกพร่องทางการศึกษาโดยการจัดทำแผน การจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล แผนการสอนรายบุคคล
ให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคล ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาสำหรับบุคคล
ที่มีความบกพร่องทางการศึกษา อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริม แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อพัฒนา การจัดการเรียนร่วมให้ดียิ่งขึ้น
 
           บทบาทที่ 4 จัดระบบสนับสนุนการเรียนการสอน การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program: IEP) สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และ ความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา รวมถึงการจัดบุคลากร
           ดำเนินการโดย จัดทำ จัดหา ประสานงาน ตลอดจนจัดสรรงบประมาณสนับสนุน การให้บริการ
สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนบุคลากรในการจัดการเรียนการสอน แก่คนพิการ ครอบครัว สถานศึกษา และทุกภาคส่วนในจังหวัดที่ศูนย์การศึกษาพิเศษตั้งอยู่ จัดให้มีการส่งเสริมการผลิต การให้บริการคำปรึกษา การพัฒนาองค์ความรู้ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับคนพิการ แต่ละประเภท
 
           บทบาทที่ 5 พัฒนา และฝึกอบรมผู้ดูแลคนพิการ บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาสำหรับ
คนพิการ

           ดำเนินการโดย จัดอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการแก่ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้ดูแลคนพิการ ผู้ที่สนใจหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดทำหลักสูตร และคู่มือการฝึกอบรมด้านการจัดการศึกษาสำหรับ
คนพิการ จัดสื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมให้มีการผลิตคู่มือและเอกสารทางวิชาการ จัดประชุมอบรม
เชิงปฏิบัติการ สร้างวิทยากรแกนนำ และครูต้นแบบด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ จัดหาทุนศึกษาต่อ
และศึกษาดูงานแก่บุคลากรทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมสถาบันที่ผลิตบุคลากรซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ และประกาศเกียรติคุณ แก่บุคลากรที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ
 
 
 
           บทบาทที่ 6 ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (Community Based Rehabilitation: CBR) ด้วยกระบวนการทางการศึกษา
           ดำเนินการโดย จัดกระบวนการทางการศึกษาให้สามารถเสริมสร้างสมรรถภาพหรือความสามารถของคนพิการให้มีสภาพที่ดีขึ้น ให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมทัดเทียมคนปกติ โดยการให้ครอบครัว และชุมชนเป็นหลักในการดูแลคนพิการ เพื่อสนอง ความต้องการจำเป็นที่แท้จริงของคนพิการ เพราะกิจกรรมในชุมชนมีหลากหลายทำให้มีความสุข ในการดำรงชีวิตมากกว่า การมีส่วนร่วมของชุมชน
เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการให้บริการช่วยเหลือคนพิการ และมีผลต่อการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
กับสถาบันที่ให้บริการช่วยเหลือด้วย เพราะผู้ปกครองจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือถูกทอดทิ้งให้รับภาระ
อยู่ฝ่ายเดียว ทั้งนี้เพื่อให้คนพิการได้รับ การพัฒนาในด้านต่างๆ ได้แก่ พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว พัฒนาการด้านการใช้มือและตา พัฒนาการด้านการใช้ภาษา พัฒนาการด้านความสามารถในการเรียนรู้ พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเอง และพัฒนาการทางด้านสังคม ซึ่งส่งผลให้คนพิการสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนสามารถลดระดับความพิการ เมื่อได้รับการดูแลช่วยเหลือจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และ ชุมชนอย่างถูกต้องและเหมาะสม
 
           บทบาทที่ 7 เป็นศูนย์ข้อมูล รวมทั้งจัดระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ
           ดำเนินการโดย รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูล สถิติ สารสนเทศ เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ นโยบาย มติคณะรัฐมนตรี ทะเบียนคนพิการ ข้อมูลการได้รับบริการทางการศึกษาและอาชีพของคนพิการ จัดทำฐานข้อมูลความต้องการด้านสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และ ความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาของคนพิการเป็นรายบุคคล รวบรวมแหล่งความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่ให้บริการสำหรับคนพิการในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลของศูนย์การศึกษาพิเศษและสถานศึกษาในสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ประสานข้อมูลกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อพัฒนาการศึกษาของคนพิการและสร้างเสริมเจตคติต่อคนพิการในทางที่สร้างสรรค์
 
           บทบาทที่ 8 บทบาทหน้าที่อื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย
           ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่อื่นของศูนย์การศึกษาพิเศษ พ.ศ. 2553
ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 95 ง ณ 6 สิงหาคม 2553
วิสัยทัศน์ (VISION)
           ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มุ่งจัดการศึกษาสำหรับคนพิการให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐาน
ของความเป็นไทยสู่สากล


พันธกิจ (MISSION)
           1. จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตรสถานศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความสามารถในการแข่งขัน
           2. พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาบนพื้นฐานของความเป็นไทยสู่สากล
           3. เสริมสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยรูปแบบ และวิธีการที่หลากหลาย
           4. พัฒนาการบริหารจัดการศึกษาอย่างมีระบบตามหลักธรรมาภิบาล และน้อมนำตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
           5. ส่งเสริมครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ